วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

น้กประวัติศาสตร์ไทย

น้กประวัติศาสตร์ไทย มีทั้งหมด 24 ท่าน เป็นหลัก ไกรศรี นิมมานเหมินท์ , ขจร สุขพานิช , จิตร ภูมิศักดิ์ , ชาญวิทย์ เกษตรศิริ , ชาตรี ประกิตนนทการ , ชิน อยู่ดี , สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ธงชัย วินิจจะกูล , นิธิ เอียวศรีวงศ์ , ประเสริฐ ณ นคร , ปรีดี พนมยงค์ , เผ่าทอง ทองเจือ , พูนพิศ อมาตยกุล , ภูวดล ทรงประเสริฐ , มนัส โอภากุล , ไมเคิล ไรท์ , ล้อม เพ็งแก้ว , ศรีศักร วัลลิโภดม , สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล , สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ , หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล , สุเนตร ชุตินธรานนท์ , อดุล วิเชียรเจริญ , เอนก นาวิกมูล ซึ่งจะยกตัวอย่างเฉพาะบางท่านเท่านั้น อย่างเช่น
ศาสตราจารย์พิเศษขจร สุขพานิช เป็นนักประวัติศาสตร์ไทยที่มีบทบาทสำคัญในช่วงทศวรรษ 2500-2510 เป็นผู้เสนอข้อมูลและการตีความประวัติศาสตร์ไทยใหม่ ๆ เช่น บทความเรื่อง "จดหมายเหตุราชวงศ์หงวน-การพิจารณาใหม่" (พ.ศ. 2514) ของท่านที่ปฏิเสธความเชื่อตามพระมติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เสนอในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยเสด็จเยือนเมืองจีน ประวัติ ศาสตราจารย์ขจรเกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ที่ตำบลหนองแค จังหวัดสระบุรี เข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แล้วได้เป็นมาสเตอร์ (Master) สอนหนังสือที่โรงเรียนดังกล่าวก่อนจบการศึกษา ต่อมาได้ไปสอนที่โรงเรียนมงฟอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้ลาออก เข้าทำงานที่กรุงเทพฯ และศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และรับราชการอยู่ระยะหนึ่ง จึงลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัวจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จึงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมพ่อค้าไทยหลายสมัย ในช่วงครึ่งหลังของชีวิตได้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างจริงจัง เดินทางไปหาความรู้เพิ่มเติมที่วิทยาลัยตะวันออกและแอฟริกาศึกษา (School of Oriental and African Studies) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) โดยแสวงหาหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย เขียนบทความ ทำการสอน บรรยายพิเศษ และให้คำปรึกษาแก่นิสิตนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ศาสตราจารย์ขจรได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2514 และวิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปัจจุบัน) ได้เสนอแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษในคณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2516 ศาสตราจารย์ขจรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2521 อย่างกะทันหัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 29 เมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งก่อนถึงแก่กรรมท่านได้ทำพินัยกรรมมอบหนังสือส่วนตัวที่มีจำนวนและคุณค่ามหาศาลแก่หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงมีการตั้งชื่อห้องหนังสือดังกล่าวเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านว่าห้องขจร สุขพานิช ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารหอสมุดกลาง ผลงานทางวิชาการ การต่างประเทศในแผ่นดินพระเอกาทศรฐ (พ.ศ. 2504) ,ฐานันดรไพร่ (พ.ศ. 2505) ,ออกญาวิไชเยนทร์ และการต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2506) ,ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย (พ.ศ. 2508) ,กรุงยโสธร-นครธมในประวัติศาสตร์ไทย : คัดจากแถลงผลงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 1 เล่ม 2 พฤษภาคม 2510 (พ.ศ. 2510) ,รวมการบรรยายเรื่องตัวอักษรไทย (พ.ศ. 2512) ,ไพร่ฟ้าข้าไทย และ จดหมายเหตุราชวงศ์หงวน-การพิจารณาใหม่ (พ.ศ. 2514) ,ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก (พ.ศ. 2518) ,ข้อมูลประวัติศาสตร์ก่อนราชวงศ์พระร่วง ; ใครเป็นผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2520) ,คำบรรยายประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 1600-2130 (พ.ศ. 2521) ,ปัญหาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย (พ.ศ. 2525) ,ถิ่นกำเนิดและแนวอพยพของเผ่าไทย (ม.ป.ป.) นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาและกรรมการวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทสาขาวิชาประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปัจจุบัน) เช่น เรื่อง นโยบายการจัดการศึกษาของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2512) ของ วุฒิชัย มูลศิลป์, ความสัมพันธ์ระหว่างไทยเขมรและญวนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2514) ของ ถนอม อานามวัฒน์, พระบรมราโชบายเกี่ยวกับปัญหาชาวจีนในพระราชอาณาเขตรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2516) ของ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ ร.ศ. 112 ถึง ร.ศ. 126 (ค.ศ. 1893-1907) (พ.ศ. 2518) ของ สุวิทย์ ธีรศาศวัต, และ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสสมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. 2199-2246) ของ พลับพลึง คงชนะ เป็นต้น ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่อมาก็ได้มีบทบาทในวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยต่อมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็รับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒด้วย
จิตร ภูมิศักดิ์ (25 กันยายน พ.ศ. 2473 — 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509) เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด จิตรเป็นบุตรของ นายศิริ ภูมิศักดิ์ และนางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจน ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จิตรเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2509 หลังเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยถูกอาสาสมัครและทหารล้อมยิง การศึกษา พ.ศ. 2479 จิตรติดตามบิดา ซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต เดินทางไปรับราชการยังจังหวัดกาญจนบุรี และเข้ารับการศึกษาชั้นประถม ที่โรงเรียนประจำจังหวัดแห่งนั้น จิตรย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. 2482 บิดาของจิตรย้ายไปรับราชการในเมืองพระตะบอง ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองในการปกครองของไทย (ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา) จิตรจึงย้ายตามไปด้วย และได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่นั่น พ.ศ. 2490 ประเทศไทย ต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้กัมพูชา จิตรจึงอพยพตามมารดากลับเมืองไทย ส่วนบิดานั้นไปเริ่มชีวิตครอบครัวใหม่กับหญิงอื่นๆ ระหว่างที่ครอบครัวภูมิศักดิ์ ยังอยู่ที่พระตะบอง นางแสงเงินเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ขณะที่จิตรและพี่สาว เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตรเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมบพิตรหรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในที่สุด แนวคิดและการต่อสู้ ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักด์ น่าจะโด่งดังในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก จากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่เขาเป็นสาราณียากร ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ "ซ้ำ ๆ ซาก ๆ" ของหนังสือประจำปี โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ "สอบสวน" จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดยนายสีหเดช บุนนาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497 ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกไป เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน" ปี พ.ศ. 2498 เขากลับเข้าเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร จนกระทั่งถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เขาถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 จึงได้รับการปลดปล่อยและพ้นจากข้อหาของทางการ เนื่องจากเขาถูกติดตามคุกคามจากทางการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนักทำให้เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในนาม สหายปรีชา ต่อมาถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิต ตายด้วยกระสุนปืนที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509[1] ผลงาน จิตรมีความสามารถในด้านภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์อย่างมาก และยังมีความสามารถระดับสูงในด้านอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นอัจฉริยะบุคคลของไทยคนหนึ่ง ในด้านภาษาศาสตร์นั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญในภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร โดยเฉพาะภาษาเขมรนั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาเขมรปัจจุบันและภาษาเขมรโบราณด้วย นอกจากนี้ จิตรได้เขียนพจนานุกรมภาษาละหุ (มูเซอ) โดยเรียนรู้กับชาวมูเซอขณะอยู่ในคุกลาดยาว ในตอนแรก ชาวมูเซอไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ จิตรเองก็ไม่สามารถพูดภาษามูเซอได้เช่นกัน แต่ด้วยความสามารถ เขาสามารถเรียนรู้ระบบของภาษา และนำมาใช้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ งานเขียนชิ้นเด่น หนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ", 2519* ,หนังสือ "ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม" (ต่อมาพิมพ์รวมเล่มกับ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" เป็น "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์") ,หนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย"* ,หนังสือ "ภาษาและนิรุกติศาสตร์" ,หนังสือ "ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย", 2548 ,หนังสือ "โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา", 2524 ,หนังสือ "สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา", 2526 ,หนังสือ "ตำนานแห่งนครวัด" ,เพลง "ภูพานปฏิวัติ" ,เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ,บทกวี "เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน" ,บทกวี "อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย" ,บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์* ผลงานที่มี * ข้างท้าย หมายถึงถูกคัดเลือกให้อยู่ใน หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน นามปากกา นามปากกาของจิตรมีเป็นจำนวนมาก เช่น นาคราช1, ศูลภูวดล1, ศรีนาคร, ทีปกร, สมสมัย ศรีศูทรพรรณ1, ศิลป์ พิทักษ์ชน, สมชาย ปรีชาเจริญ, สุธรรม บุญรุ่ง, ขวัญนรา, สิทธิ ศรีสยาม1, กวีการเมือง, กวี ศรีสยาม, บุคแมน, มูฟวี่แมน (มูวี่แมน) , ศิริศิลป์ อุดมทรรศน์1, จักร ภูมิสิทธิ์2 หมายเหตุ: 1 หมายถึง ใช้เพียงครั้งเดียว, 2 เป็นคำผวนของชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 — ) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ประวัติ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกิดเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ที่บ้านห้องแถว ถนนทรงพล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เกิดและเติบโตจากครอบครัวชนชั้นกลาง คุณพ่อชื่อ เชิญ (เปลี่ยนนามสกุลเดิมจาก "แก่นแก้ว" เป็น "เกษตรศิริ") จบการศึกษาชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คุณพ่อรับราชการเป็นเทศมนตรี อำเภอบ้านโป่ง และทำการค้าขายมี "ร้านขายปืนบ้านโป่ง" คุณแม่ชื่อ ฉวีรัตน์ (สกุลเดิม "เอี่ยมโอภาส") จบการศึกษาจากโรงเรียนพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีอาชีพเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์ เมื่อ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อายุได้เพียง 7 เดือน เกิดเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย (8 ธันวาคม 2484) และใช้บริเวณสถานีรถไฟหนองปลาดุก ซึ่งใกล้กับอำเภอบ้านโป่ง เป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่นเพื่อควบคุมการสร้างทางรถไฟสายมรณะ จนก่อให้เกิด "เหตุการณ์บ้านโป่ง" ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว และเมื่อถึงช่วงปรายสงคราม ซึ่งเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดอย่างหนักที่หนองปลาดุก คุณแม่ฉวีรัตน์ จึงได้พา ดร.ชาญวิทย์ (อายุ 3 ขวบ) หนีหลบภัยสงครามไปยังบ้านญาติในคลองบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เริ่มเรียน ก ไก่ ข ไข่ จากโรงเรียนเฉลิมวิทยา ที่วัดกลางปากน้ำ จังหวัดสมุทรปรากการ ซึ่งคุณตาคุณยายเป็นเจ้าของโรงเรียน จากนั้นกลับมาเรียนที่บ้านโป่งอีกครั้ง โดยเข้าศึกษาต่อระดับประถม 3 - 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 (ระหว่าง พ.ศ. 2493 - 2497 เป็นเวลา 5 ปี) ที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือคณะนักบวชซาเลเซียน โดยเป็นโรงเรียนเดียวกับที่ ธนินท์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีอันดับ1ของไทยเคยเข้าศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2492 เมื่ออายุ 14 ปี พ.ศ. 2498 ดร.ชาญวิทย์เดินทางเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 8 จากนั้นสอบเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แผนกการทูต) โดยมีผลการเรียนดีจนได้รับเกียรตินิยมดี และได้รับรางวัลภูมิพล ในปี พ.ศ. 2506 จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุน Rockefeller Foundation ผ่านภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ไปเรียนในระดับปริญญาโททางการทูตที่ Occidental College รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2508 - 2510) จากนั้นให้เรียนต่อระดับปริญญาเอก ด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล รัฐนิวยอร์ก เป็นเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2510 - 2515) โดยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง The Rise of Ayudhaya การเป็นนักเรียนนอกในยุค 60s ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในวิธีคิดและการมองโลกของ ดร. ชาญวิทย์ ซึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นเป็นยุคที่เกิดกระแส "ซ้ายใหม่" หรือ New Left ในกลุ่มคนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ที่กบฏต่อทุกอย่างที่เป็นจารีตดั้งเดิม โดยการทุ่มเทชีวิตให้กับการชุมนุนประท้วง ในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น สงครามเวียดนาม การแต่งกาย ฯลฯ จนเกิดเป็นค่านิยม Hippies หรือบุปผาชน ประสบการณ์ชีวิตช่วงนี้ส่งผลให้ ดร.ชาญวิทย์ เกิดจิตวิญญาณที่อิสระเสรี และเกิดจิตสำนึกที่จะเรียนรู้และขุดคุ้ยแสวงหาความจริงความถูกต้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเป็นนักประวัติศาสตร์ของ ดร.ชาญวิทย์ ในเวลาต่อมา และจากประสบการณ์นี้เองส่งผลให้ ดร.ชาญวิทย์ ผลิตผลงานต่างๆที่ก้าวทันโลกและรักษ์รากเหง้า ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่อการต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม และในขอบเขตเหนือความเป็นรัฐประชาชาติ ด้วยความมุ่งหวังให้สาธารณะชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและมีส่วนในกระบวนการเรียนรู้ด้วย จนบางคนเรียก ดร.ชาญวิทย์ว่า "ปัญญาชนสาธารณะ" การศึกษา ประถมศึกษา โรงเรียนเฉลิมวิทยา สมุทรปราการ มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย ราชบุรี มัธยมศึกษาตอนปลายและเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรี รัฐศาสตร์ สาขาการทูต (เกียรตินิยมดี-รางวัลภูมิพล) คณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท สาขา Diplomacy and World Affairs จาก วิทยาลัยออกซิเดนทอล วิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กในเมือง ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2510 ปริญญาเอก ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล นิวยอร์ก พ.ศ. 2515 การทำงาน เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ,รองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐานสมัยนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2519 ,หัวหน้าสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ พ.ศ. 2524 - 2526 ,รองผู้อำนวยการและกรรมการสถาบันไทยคดีศึกษา พ.ศ. 2525 - 2528 ,รองอธิการบดี (ฝ่ายธรรมศาสตร์ 50 ปี) และกรรมการสภามหาวิทยาลัย สมัยคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี เป็นอธิการบดี พ.ศ. 2526 - 2529 ,รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา พ.ศ. 2529 - 2531 ,คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2534 - 2537 ,อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิ.ย. 2537 - 2538) ,ปัจจุบัน ประธานที่ปรึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAs) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อื่น ๆ นักวิจัยประจำศูนย์ศึกษาตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโต (พ.ศ. 2520-2521) ,ผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (พ.ศ. 2521-2522) ,ผู้ควบคุมวิชาสัมมนาเรื่องประเทศไทย โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ (พ.ศ. 2528) ,บรรณาธิการวารสารธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2524-2526) ,เลขานุการก่อตั้งกองทุนธรรมศาสตร์ 50 ปี (พ.ศ. 2527) ,ประธานกรรมการก่อตั้งกองทุนศิลปศาสตร์ 30 ปี (พ.ศ. 2535) ,ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน) ,กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (พ.ศ. 2521-ปัจจุบัน) ,กรรมการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี (พ.ศ. 2533) ฯลฯ งานเขียนบางส่วน 14 ตุลา บันทึกประวัติศาสตร์, ISBN 9749144961 , 3 ทศวรรษ 14 ตุลากับประชาธิปไตยไทย, ISBN 9749248724 , การค้าสังคโลก, ISBN 5501307677 ,ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี, ISBN 9748701794 ,เจ้านโรดม สีหนุกับนโยบายความเป็นกลางของกัมพูชา, ISBN 5501354810 ,รายงานชวา สมัย ร.5, ISBN 9749171683 ,สยามพาณิชย์, ISBN 5502053415 ,บทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ,ผู้สถาปนา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวไทย เกิดและโตที่กรุงเทพ ประเทศไทย อดีตเป็นผู้นำนักศึกษาซึ่งถูกจับกุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519ย้ายไปสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2534 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา สาขาที่สนใจคือประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและวิทยาการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคต้นสมัยใหม่และสมัยใหม่ (คริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20) โดยเฉพาะการปะทะกันระหว่างสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอารยธรรมตะวันตก, ประวัติศาสตร์สยาม/ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของความรู้ แนวคิด และนักคิด, และการเมืองวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบัน, ชาตินิยม, ภูมิศาสตร์ การแผนที่ ประวัติศาสตร์ที่อันตราย ความทรงจำ และวิธีที่สังคมจัดการกับอดีตที่เป็นปัญหาเหล่านั้น[1] ธงชัยจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทและเอกจาก มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวไทย นิธิได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น สภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลฟูกูโอกะ และรางวัลศรีบูรพา นิธิ ได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง[ใครกล่าว?]หลังจากสมัย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจิตร ภูมิศักดิ์ ประวัติ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ที่กรุงเทพมหานคร ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเจ้าตัวมักเรียกตัวเองว่าเป็น เจ๊กปนลาว (จ.ป.ล.) (มาจากการที่เป็นคนจีนที่เกิดในเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นดินแดนของอาณาจักรล้านนาในอดีต ซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกับลาว) จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา และสำเร็จการศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ ทั้งปริญญาตรี และโท จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ ภาควิชาประวัติศาตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จในปี พ.ศ. 2519 กลับมารับราชการตามเดิม จนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ และเข้าโครงการลาเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดใน พ.ศ. 2543[1] หลังจากสิ้นภาระการสอนในระบบมหาวิทยาลัยปกติ ปัจจุบัน ยังคงเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแสดงความคิดสู่สังคมผ่านมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งได้บุกเบิกมาก่อนหน้านี้แล้ว และผ่านรูปแบบบทความทางหนังสือพิมพ์ นิตยสารอยู่เป็นประจำ ในการลงประชามติรับร่างธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ศ.ดร.นิธิ เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว การทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ [2] ผลงาน หนังสือ อิสลามสมัยแรก (2511) , ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก (2521?) ,การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (2523) ,ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (2523) ,วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ (2525) ,หลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย (ส021) / นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาคม พัฒิยะ (2525) , ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรม และประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (2527) ,ศรีรามเทพนคร : รวมความเรียงว่าด้วยประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น / อาคม พัฒิยะ และนิธิ เอียวศรีวงศ์ (2527) , สุนทรภู่ : มหากวีกระฎุมพี (2528) ,การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529) ,สุนทรภู่ดูโลกและสังคม / นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสมบัติ จันทรวงศ์ (2529) ,เกียวโต ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ (2532) ,ท่องเที่ยวบุญบั้งไฟในอีสาน : บุญบั้งไฟต้องรับใช้ชาวยโสธรไม่ใช่ชาวยโสธรรับใช้บุญบั้งไฟ (2536) ,ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 (2536) ,วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย (2536) ,สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยยุคใหม่ : จริยธรรมในการศึกษาสำหรับอนาคต (2536) ,สองหน้าสังคมไทย : บทวิพากษ์โครงสร้างอารยธรรมไทย (2539) ,การปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศไทย (2543) รวมบทความ กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (2538) ,โขน, คาราบาว, น้ำเน่า และหนังไทย : ว่าด้วยเพลง ภาษาและนานามหรสพ (2538) ,ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ : ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก (2538) ,ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงใน และฯลฯ : ว่าด้วยประเพณี ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ (2538) ,สังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง (2539) ,ยุคสมัยไม่เชื่ออย่าลบหลู่ (2541) ,วัฒนธรรมความจน (2541) ,เก็บที่โล่งแก่รากหญ้า : คัดสรรข้อเขียน 1 ทศวรรษว่าด้วยทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และอื่นๆ (2543) ,คนจนกับนโยบายการทำให้จนของรัฐ : รวมบทความนิธิ เอียวศรีวงศ์ (2543) ,พุทธศาสนาในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย (2543) ,ก่อนยุคพระศรีอาริย์ ว่าด้วย ศาสนา ความเชื่อ และศีลธรรม (2545) ,คำมีคม : ว่าด้วยภาษา วัฒนธรรมและอำนาจ (2545) ว่าด้วย "การเมือง" ของประวัติศาสตร์และความทรงจำ (2545) ,ว่าด้วย "เพศ" ความคิด ตัวตน และอคติทางเพศ ผู้หญิง เกย์ เพศศึกษา และกามารมณ์ (2545) ,(ต่าง) คิดในคอก (ตน) ว่าด้วยวัฒนธรรมและวิธีคิด (2546) ,นอกรั้วโรงเรียน (2546) ,ไฮเทคาถาปาฏิหาริย์ ว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทย (2546) ,บริโภค/โพสต์โมเดิร์น (2547) ,อ่านวัฒนธรรมการเมืองไทย (2547) ,ความยุ่งของการอยู่ (2548) ,ประวัติศาสตร์ ชาติ ปัญญาชน (2548) ,วัฒนธรรมคนอย่างทักษิณ (2549) ,,รากหญ้าสร้างบ้าน ชนชั้นกลางสร้างเมือง (2552) วิทยานิพนธ์ การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ. 2431 (Suppression of the Haw uprisings and loss of Thai territories in 1888) (วิทยานิพนธ์ (อ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2509) และ Fiction as history : a study of pre-war Indonesian novels and novelists (1920-1942) (Thesis (Ph.D.) University of Michigan, 1976) (2519) หนังสือแปล ประวัติศาสตร์เยอรมัน (2511) / ฮูแบร์ตุส เลอเวนสไตน์ เขียน; นิธิ เอียวศรีวงศ์, แปล และ พุทธศาสนา : สาระและพัฒนาการ (2514) (Buddhism, its essence and development, by Edward Conze)
รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา ชาวไทย เจ้าของรางวัลวัฒนธรรมเอเชียฟูกูโอกะ ประจำปี พ.ศ. 2550 เป็นผู้ทำงานศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียงงานวิชาการ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยาไว้อย่างมากมาย และ เป็นบรรณาธิการนิตยสารเมืองโบราณ เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานสนับสนุนการวิจัย เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นที่ปรึกษามูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์ ประวัติ เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2481 (73 ปี) [1] เป็นบุตรชายของ นายมานิต วัลลิโภดม อดีตหัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร จบปริญญาตรีอักษรศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2503 ได้ทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและได้ไปศึกษาต่อทางมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย การทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยทำหน้าที่ยกร่างแผนปฏิบัติการที่สามารถนำไปปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 19 คน ทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ [2] ผลงานหนังสือ โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา (2525) ,กรุงศรีอยุธยาของเรา (2527) ,สยามประเทศภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาอาณาจักรสยาม (2539) ,ความหมายของพระบรมธาตุในอารยธรรมสยามประเทศ (2539) ,มองอนาคต :บทวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางสังคมไทย นิธิ เอียวศรีวงศ์,ศรีศักร วัลลิโภดม,เอกวิทย์ ณ ถลาง (2538) ,พระที่นั่งสรรเพชรปราสาท (2538) ,สังคมสองฝั่งโขงกับอดีตทางวัฒนธรรมที่ต้องลำเลิก , รัฐปัตตานีใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่ว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์ (ประชุมงานค้นคว้าและวิจัยทางวิชาการของ ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ) ,พิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น :กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (หนังสือชุดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น) ,ประวัติศาสตร์โบราณคดี :เมืองอู่ทอง ,นครแพร่ จากอดีตมาปัจจุบัน :ภูมินิเวศวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ,เรือนไทย บ้านไทย
รองศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนบทภาพยนตร์ชาวไทย ประวัติ จบการศึกษา ศิลปศาสตร์บัณฑิต (ประวัติศาสตร์) เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขา ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็น รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาและผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (นานาชาติ)สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สนใจและศึกษาประวัติศาสตร์โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า จนเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า 1 ใน 5 คน ของประเทศ ณ ปัจจุบัน มีผลงานการเขียนด้านบทความมากมายตามนิตยสารต่าง ๆ เช่น เมืองโบราณ, ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น มีผลงานด้านหนังสือ เช่น พม่ารบไทย (พ.ศ. 2537), บุเรงนอง กะยอดินนรธา กษัตริย์พม่าในโลกทัศน์ไทย (พ.ศ. 2538), พระสุพรรณกัลยาจากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2542), พม่าอ่านไทย (พ.ศ. 2544) เป็นต้น สำหรับผลงานวิจัยชิ้นล่าสุด ในปี พ.ศ. 2552 คือ ไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นโครงการที่ศึกษามุมมองของประเทศเพื่อนบ้านอันได้แก่ พม่า, ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, และมาเลเซีย ว่ามีมุมมอง ทัศนคติต่อไทยอย่างไร ซึ่ง รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ นอกจากนี้ รศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ยังเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ตามโอกาสต่าง ๆ เช่น การพูดคุยกับวีระ ธีรภัทรทางวิทยุคลื่น F.M.96.5 MHz เป็นต้น และยังเป็นที่ปรึกษาทางประวัติศาสตร์แก่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (พ.ศ. 2544) และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2550) โดยในเครดิตภาพยนตร์ปรากฏชื่อของ รศ.ดร. สุเนตร เป็นผู้เขียนบทร่วมกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ด้วย
เอนก นาวิกมูล ( 14 มีนาคม พ.ศ. 2496 - ปัจจุบัน ) เป็นนักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสมของเก่า และ ยังเป็นผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์ เอนก เกิดวันเสาร์ที่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ครอบครัวทำกิจการร้านขายหนังสือแบบเรียน บิดาเป็นนักประดิษฐ์ นักสะสมหนังสือ ปฏิทิน ส.ค.ส. ภาพถ่าย ส่วนตัวจึงชอบถ่ายภาพ ชอบศึกษาค้นคว้า เขียนหนังสือ และเป็นนักสะสมมาตั้งแต่เด็ก การศึกษา จบชั้นประถมศึกษาจาก โรงเรียนบ้านระโนด(ธัญเจริญ) อ.ระโนด จ.สงขลา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา มัธยมศึกษาตอนปลาย สาย ศิลป์-คณิต จากโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีพุทธศักราช 2515 และมาเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจบรัฐศาสตร์ (รุ่น 25) เกียรตินิยม แรกเริ่ม เอนก เป็นคนที่รักการสะสมแสตมป์ รูปภาพ ถ่ายรูป การเขียนหนังสือและการวาดภาพ วาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อน ๆ ในสมัยเรียนต่างชอบอ่านหนังสือการ์ตูน นิทาน ที่เอนกทำขึ้น สมัยที่เรียน มัธยมปลาย เอนก ได้รับมอบหมายให้เป็นสารานียกร หนังสือรุ่น ซึ่งถือเป็นงานหนังสือที่เอนกได้รับผิดชอบและทำได้ดีมากรุ่นหนึ่ง ของโรงเรียนวรนารีเฉลิม เขาเรียนจบปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยม จากนั้นทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนสารคดีเรื่องทางศิลปะวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้าน ภายหลังได้ทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ และริเริ่มก่อตั้ง "บ้านพิพิธภัณฑ์" เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของใช้เก่าในชีวิตประจำวันของชาวเมืองชาวตลาด ซึ่งหน่วยงานรัฐและคนทั่วไปยังไม่สนใจเก็บรักษา โดยสร้างคำขวัญว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า" จนกระทั่งเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2515 เข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็อยากออกไปสำรวจโลกภายนอก เมื่อไปรู้ไปเห็นเรื่องเก่ามามากเข้า ก็เพลาการเขียนเรื่องสั้นลงไป แล้วหันมามุ่งกับการเขียนสารคดีมากขึ้น เพราะเห็นว่าเมืองไทยขาดแคลนข้อมูลมาก ข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่มีที่มาที่ไป แถมบางทียังขัดกันจนไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี บางเรื่องเป็นเรื่องนอกสายตาที่คนลืมไปแล้ว ก็เขียนลงในนิตยสารหลายเล่ม เริ่มต้นจากวิทยาสาร ปี 2518 โดยในปีนี้เองมีหนังสือสารคดีเป็นของตัวเองเป็นเล่มแรกชื่อ "เพลงยังไม่สิ้นเสียง" เป็นหนังสือที่อาจารย์ให้ทำขึ้นเพื่องานงานหนึ่ง ต่อมาก็เป็นนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในปี 2522 และมาเขียนให้กับนิตยสารสารคดี ในคอลัมน์ "มุมสะสม" ตั้งแต่ฉบับแรกปี 2528 อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้นักรัฐศาสตร์กลายมาเป็นนักเก็บสะสม เอนกเล่าว่า ความที่พ่อเป็นนักเก็บสะสม บวกกับที่เขาเป็นคนชอบอ่านชอบดูมาตั้งแต่เด็ก อยู่ชั้น ป.3 ป.4 ก็นั่งเขียนกลอน ตอน ป.6 ส่งบทกลอนไปที่นิตยสารชัยพฤกษ์ ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และเริ่มเขียนเรื่องสั้นตอน ป.7 ทำให้อยากเป็นนักเขียนมากขึ้น แล้วเมื่อขึ้น มศ.1 ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเรื่องสั้น "ปีแห่งกรรม" เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวนาไทย ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดเรื่องสั้นทั้งประเทศของนิตยสารชัยพฤกษ์ โดยได้รับอิทธิพลการเขียนและความคิดจากงานประพันธ์ของ น. ณ ปากน้ำ ที่กล่าวถึงการทำลายสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม และในช่วงนี้เองครูประจำชั้นก็สอนถ่ายภาพให้ หลังจบการศึกษาจากจุฬาฯ เอนกทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้าน ต่อมาจึงไปทำงานที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ เมื่อปีพุทธศักราช 2520 และลาออกไปทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เชิงสะพานผ่านฟ้าโดยร่วมงานกับ กวีรัตนโกสินทร์ " คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ " ศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2527 จนถึงปัจจุบัน ในยุคนั้นได้มีเพื่อนร่วมงานที่มีชื่อเสียงตาม ๆ กันมาอาทิ คุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ คุณโดม สุขวงศ์ เป็นต้น เอนก นาวิกมูล มีผลงานเขียนหนังสือหลายสิบเล่ม (104 เล่ม - ม.ค. 2549) ซึ่งเป็นการค้นคว้า และวิเคราะห์เรื่องราวและภาพถ่ายเก่า จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และแหล่งอื่น ได้รับรางวัลผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2534 และได้รับการยกย่องเป็นนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดีเด่น เมื่อปีพุทธศักราช 2536 เอนก เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์ ในปีพุทธศักราช พ.ศ. 2530 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของใช้เก่าๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทยในอดีต จำลองบรรยากาศร้านค้าประเภทต่างๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ร้านขายยา ร้านถ่ายรูป ร้านขายหนังสือ นำมาจัดแสดง บ้านพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 170/17 หมู่ที่ 17 หมู่บ้านคลองโพแลนด์ ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ (ถนนต่อจากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ด้านทางรถไฟ) เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ 10170 เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2544 โดยนิสัยส่วนตัวของเอนก เป็นคนรักความสงบ อ่อนน้อม แต่จริงจังและมีความสุขกับการทำงาน เขาชอบที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ และผู้ที่ได้รู้จัก และเขายังได้มีคติประจำตัวของเอนกนั้นคือ "ศรัทธาเป็นพลัง" เกียรติยศรางวัล ได้รับรางวัล ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ในปีพุทธศักราช 2534 , ได้รับการยกย่องเป็นนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดีเด่น ในปีพุทธศักราช 2536 ,ได้รับรางวัล ‘สารคดี’ เกียรติยศครั้งที่ 1 ณ.หอศิลป์กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2553 ,ได้รับรางวัล ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2554 ที่มาจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88:%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น