วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ช้างกับสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ไทย-ศรีลังกา

ช้างกับสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ไทย-ศรีลังกา
ไทยกับศรีลังกามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยาวนานมานับเป็นพันปี นับตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนานิกายสิงหลภิกขุหรือลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 แล้วเผยแผ่ไปยังสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท พระสงฆ์สุโขทัยเดินทางไปบวชยังสำนักสิงหลภิกขุในลังกา แล้วได้นำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแผ่ในสุโขทัย จนทำให้สุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางแผ่ขยายนิกายนี้ไปยังล้านนาและอยุธยาในเวลาต่อมา
สถูปรุวันเวลิ เมืองอนุราธปุระ (ภาพโดย ปานวาด) ลัทธิลังกาวงศ์มีอิทธิพลสูงต่อหลักธรรมคำสอนในบวรพุทธศาสนา รวมไปถึงวัตรปฏิบัติ ตลอดจนธรรมเนียมหลายอย่างของพระสงฆ์ชาวสยาม นอกจากนี้อิทธิพลของลัทธิลังกาวงศ์ยังปรากฏให้เห็นในหลักฐานประเภทวัตถุธรรม เช่น งานศิลปกรรมแขนงต่างๆ รวมทั้งรูปทรงสถูปเจดีย์แบบระฆังกลมที่ไทยได้อิทธิพลไปจากศรีลังกา จนเรียกขานสถาปัตยกรรมนี้ว่า 'เจดีย์ทรงลังกา' ซึ่งนิยมสร้างสืบเนื่องเรื่อยมา จนกลายเป็นแบบแผนสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดแบบหนึ่งของไทย
ช้างล้อมรอบฐานสถูปรุวันเวลิ เมืองอนุราธปุระ นอกจากเจดีย์ทรงลังกาแล้ว รูปแบบสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ไทยรับมาจากลังกาอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้าง 'เจดีย์ช้างล้อมรอบฐาน' พบอยู่ในหลายภูมิภาคของประเทศไทย อาทิเช่น เชียงใหม่ น่าน สุโขทัย กำแพงเพชร อยุธยา และพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่วัฒนธรรมชาวพุทธของศรีลังกามายาวนานเช่นเดียวกับสังคมไทย ชาวลังกาเชื่อว่าพระพุทธเจ้าในอดีตชาติทรงเคยเสวยพระชาติเป็นพญาคชสาร นอกจากนี้ช้างยังเป็นผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาจึงเกิดธรรมเนียมการสร้างช้างหนุนที่รอบฐานพระสถูปเจดีย์ อย่างเช่นรุวันเวลิเสยา หรือเจดีย์รุวันเวลิ สถูปช้างล้อมซึ่งสร้างในรัชสมัยพระเจ้าทุฐฏคามนี กษัตริย์ลังกาสมัยอนุราธปุระ ราว พ.ศ.705 ตามประวัติกล่าวว่าพระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีต่อสู้กับพระเจ้าเอลาระกษัตริย์ชาวทมิฬจากอินเดียใต้ที่เข้ามายึดครองนครอนุราธปุระ ทรงมีชัยชนะเหนือกษัตริย์ชาวทมิฬ จึงได้สถาปนาพระสถูปช้างล้อมไว้เป็นพระบรมราชานุสรณ์ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พระสงฆ์จากสุโขทัยกลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของพระสุมนะ และพระอโนมทัสสีได้เดินทางไปยังเมืองพันซึ่งตั้งอยู่แถบเมาะตะมะในหัวเมืองมอญ สถานที่จำพรรษาของพระอุทุมพรมหาสวามี หัวหน้าคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ซึ่งจำพรรษาอยู่ในรามัญประเทศ พระสงฆ์จากสุโขทัยได้ไปบวชใหม่ตามแบบสิงหลที่เมืองพัน และนำเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแผ่ในสุโขทัย จนเกิดกระแสศรัทธาในพุทธศาสนานิกายนี้แพร่หลายไปในหมู่ชนชั้นนำและไพร่บ้านพลเมือง ไทยกับศรีลังกามีความสัมพันธ์อันดีเรื่อยมา กระทั่งถึงราวพุทธศตวรรษที่ 22 ศรีลังกาถูกรุกรานจากโปรตุเกส ต่อมาฮอลันดาได้ขับไล่โปรตุเกสออกไปและเข้าครอบครองพื้นที่หลายส่วนของศรีลังกาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา หรือวีโอซี (VOC) พยายามขยายอิทธิพลยึดครองเมืองท่าริมทะเลของศรีลังกาเพื่อผลประโยชน์ด้านการค้า ฮอลันดาได้เข้ามาผูกขาดการค้าและควบคุมสินค้าหลายอย่างในศรีลังกา รวมทั้งช้างซึ่งเป็นสินค้าของป่าที่มีความสำคัญ
(ภาพเขียนคริสต์ศตวรรษที่ 17 แสดงถึงการจับและการค้าช้างของพ่อค้าฮอลันดาในศรีลังกา) ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22-23 ช้างเป็นสินค้าที่ชาวชมพูทวีปต้องการมาก เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างรัฐต่างๆ ในอินเดีย อันเป็นผลมาจากการขยายอิทธิพลของจักรพรรดิโมกุลที่พยายามยึดครองอินเดีย โดยทำสงครามรุกรานรัฐต่างๆ สงครามทำให้เกิดความต้องการช้างซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อช้างอินเดียมีจำนวนไม่พอกับความต้องการจึงต้องจัดหาช้างจากภูมิภาคอื่นเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะช้างจากศรีลังกาและสยาม ดินแดนที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอินเดียทั้งยังเป็นแหล่งที่มีช้างเหลือเฟือ ช่วงที่ฮอลันดายึดครองศรีลังกานั้น บริเวณคาบสมุทรจัฟนา (Jaffna) ทางตอนเหนือของศรีลังกาเป็นแหล่งลำเลียงช้างเพื่อส่งต่อไปขายยังอินเดีย จนพื้นที่ส่วนนี้ได้รับการขนานนามว่า 'Elephant Pass' โดยช้างลังกาส่งไปขายที่ชายฝั่งโคโรแมนเดลทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียและเบงกอลทางตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช้างไทยส่งออกที่เมืองท่ามะริดและตะนาวศรีทางตะวันตกก่อนจะส่งต่อไปขายที่เบงกอล และชายฝั่งโคโรแมนเดล โดยเฉพาะที่เมืองมะสุลีปะตัม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ช้างไทยกับช้างศรีลังกาจึงกลายเป็นสินค้าที่ขายแข่งกันในตลาดอินเดีย การค้าช้างไทยและช้างลังกามีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกัน ช้างศรีลังกามีคุณภาพด้อยกว่าช้างไทยเนื่องจากช้างศรีลังกาตัวเล็ก ไม่ค่อยแข็งแรงและฝึกยากกว่าช้างไทย เนื่องจากศรีลังกามีภูมิประเทศเป็นเกาะ พื้นที่หาอาหารของช้างไม่กว้างขวางนัก นอกจากนี้ช้างแต่ละโขลงมีโอกาสผสมพันธุ์กันเองจึงได้ลูกที่ไม่แข็งแรงเนื่องจากโอกาสรับลักษณะด้อยทางพันธุกรรมในหมู่ช้างมีมาก ส่วนสยามนั้นพื้นที่กว้างขวางเนื่องจากเป็นภาคพื้นทวีป ช้างมีโอกาสหาอาหารตามป่าได้หลายภูมิภาค อีกทั้งยังมีโอกาสผสมพันธุ์กับช้างโขลงอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วไป ช้างจึงมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ฉลาด ฝึกฝนง่าย ในอีกด้านหนึ่งการค้าช้างของไทยนั้นราชสำนักเข้ามาควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดโดยผ่านทางพ่อค้ามุสลิมทำให้สินค้าเข้าถึงตลาดได้ง่ายเพราะมุสลิมเป็นผู้ควบคุมตลาดการค้าช้างในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ช้างลังกานั้นส่วนใหญ่ซื้อขายผ่านบริษัทของฮอลันดา ทำให้ขั้นตอนการค้าค่อนข้างยุ่งยาก พ่อค้ามุสลิมก็ไม่ค่อยชอบค้ากับชาวตะวันตกนัก ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าช้างไทยจะมีราคาสูงกว่าช้างศรีลังกาแต่ก็ได้รับความนิยมมากกว่า เมื่อถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 พระพุทธศาสนาในลังกาก็ถึงแก่ความเสื่อมโทรมเนื่องจากการขยายอิทธิพลของฮอลันดา และการขาดผู้ปกครองซึ่งเป็นศาสนูปถัมภกที่เข้มแข็ง กษัตริย์แห่งศรีลังกาจึงได้ส่งสมณทูตเดินทางเข้ามายังราชสำนักสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเพื่อทูลขอพระสงฆ์ไปสืบทอดพระพุทธศาสนาตามแบบเถรวาทที่ลังกา ครั้งนั้นคณะทูตมีโอกาสเดินทางไปในกระบวนช้างเพื่อนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงอาราธนาคณะสงฆ์สยาม มีพระราชาคณะคือ พระอุบาลี และพระอริยมุนี เป็นประธานออกไปอุปสมบทชาวสิงหลในลังกาทวีป จนเกิดเป็นคณะสงฆ์สยามวงศ์ขึ้น ทุกวันนี้ช้างมิได้เป็นสินค้าส่งออกของไทยและศรีลังกาอีกต่อไป เพราะจำนวนที่ลดน้อยลงไปมาก ช้างของทั้งสองประเทศกำลังเผชิญปัญหาเดียวกันคือความขาดแคลนแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินเพราะป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย มนุษย์รุกล้ำพื้นที่เดิมของช้างและผลักดันช้างไปสู่หนทางตีบตัน อนาคตของสัตว์ที่อยู่คู่อารยธรรมไทยและศรีลังกามายาวนานอาจถึงจุดสุดท้ายภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เมื่อถึงวันนั้นคงเหลือแต่เพียงร่องรอยซากเจดีย์ไว้ให้ผู้คนได้รำลึกถึงคุณค่าของสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของทั้งสองชนชาติ ที่มาจาก ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550 http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=2200

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น